Wednesday, 18 September 2024

โรคผิวหนังอักเสบ มีชนิดไหนบ้าง อาการเป็นอย่างไร

19 Jul 2023
328

โรคผิวหนังอักเสบเป็นภาวะอักเสบของผิวหนังไม่เพียงแต่จะส่งผลกระทบต่อร่างกายภายนอก แต่จะส่งผลกระทบต่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกายภายในอีกด้วย โรคผิวหนังอักเสบเกิดมาจากหลายสาเหตุปัจจัยเมื่อเป็นแล้วผู้ป่วยจะมีอาการ ผิวหนังบวม แดง และมีอาการคันและถ้ารุนแรงก็อาจจะมีตุ่มหนองพุพองขึ้นมาร่วมด้วย โรคผิวหนังอักเสบมีหลายชนิดแต่ละชนิดก็จะมีอาการที่แตกต่างกันไปดังนี้

โรคผิวหนังอักเสบ มีชนิดไหนบ้าง อาการเป็นอย่างไร

ชนิดและอาการของโรคผิวหนังอักเสบ

โรคผิวหนังอักเสบคือภาวะผิวหนังอักเสบจะกระจายตามบริเวณรอบๆ ร่างกาย โดยโรคผิวหนังอักเสบมีด้วยกันหลายชนิดแต่ละชนิดจะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกันดังนี้

1.โรคผื่นผิวหนังรูปเหรียญบาท

โรคผื่นผิวหนังรูปเหรียญบาท (Nummular Eczema) มักจะพบกับผู้ป่วยที่มีผิวแห้งหรืออาศัยตามสภาพแวดล้อมที่มีสภาพอากาศแห้งโดยอาการมักจะปรากฏเป็นผื่นหนาและดงลักษณะเป็นวงๆ คล้ายเหรียญบาทมีอาการคันและเมื่อเกาผิวหนังจะลอกเป็นขุยหรืออักเสบเป็นหนอง ผื่นนี้จะพบได้บริเวณขาส่วนล่าง รวมถึงแขนมือและลำตัว

2.โรคผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส

ผื่นผิวหนังอักเสบชนิดตุ่มใส (Dyshidrotic Eczema) ผื่นอักเสบชนิดนี้เป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย โดยจะพบบริเวณมือและเท้าทำให้มีอาการคันและมีตุ่มใสๆ พุพองขึ้นเม็ดเล็กๆ ตามง่ามนิ้วมือและนิ้วเท้าฝ่ามือและฝ่าเท้า

3.โรคผื่นระคายสัมผัส

โรคผื่นระคายสัมผัส (Contact Dermatitis) เป็นผื่นที่เกิดจากการสัมผัสสารก่อความระคายเคืองอย่างเช่นสารเคมีในการใช้ชีวิตประจำวันได้แก่ น้ำยาซักล้าง ผงซักฟอก สบู่ ฯลฯ เป็นเวลานานๆ และบ่อยครั้งจนผิวหนังเกิดการระคายเคือง บางคนเกิดจากการสัมผัสละอองดอกไม้พืชผักชนิดต่างๆ หรือการแพ้สารเคมีสังเคราะห์เช่นการย้อมสีผม สารแต่งกลิ่นทำให้เกิดผื่นแดงขึ้นมาและรู้สึกปวดแสบปวดร้อนและมีอาการพุพองได้

4.โรคเซบเดิร์ม

โรคเซบเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) เป็นโรคที่ทำให้ผิวหนังตกสะเก็ดและมีอาการคันแดงหากเป็นที่ศีรษะจะเกิดเป็นรังแคเรื้อรัง โดยส่วนมากจะเป็นบริเวณที่มีความมันเช่นใบหน้า เปลือกตา จมูก หน้าอกส่วนบน และหลัง หากเกิดในทารกมักจะเป็นสะเก็ดแผ่นหนาบนศีรษะอาจจะพบได้บริเวณเปลือกตา ทั้งนี้ผู้ป่วยมักจะมีอาการเรื้อรังคือเป็นๆ หายๆ ซ้ำๆ อยู่อย่างนี้

5.โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง (Atopic Dermatitis) โรคผิวหนังชนิดนี้มักจะเริ่มเป็นตั้งแต่วัยทารก ก่อให้เกิดอาการคันผิวหนังอักเสบ มักจะพบบริเวณข้อพับ แขน ขา และลำคอด้านหน้า หากเกามากๆ อาจจะมีหนองไหลและสะเก็ดหนองตามมา อย่างไรก็ตามผู้ป่วยด้วยโรคนี้เมื่อมีอายุเข้าสู่วัยรุ่นก็จะมีอาการดีขึ้นเองแต่ก็จะกลับมาเป็นซ้ำได้อีก

6.ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า

ผื่นผิวหนังอักเสบที่ข้อเท้า (Stasis Dermatitis) ผู้ป่วยจะมีอาการบวมผิวหนังตกสะเก็ดบริเวณขาส่วนล่างจนบางครั้งอาจจะรุนแรงถึงขนาดเกิดแผลเปื่อยแผลเปิดด้านในของขาส่วนล่างและรอบๆ ข้อเท้า โรคนี้มักพบกับผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดดำในขาไม่ดี

7.ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง

ผิวหนังอักเสบเรื้อรัง(Lichen Simplex Chronicus) โรคนี้ผู้ป่วยจะมีอาการผิวหนังอักเสบเรื้อรังไม่หายสักทีส่งผลให้ผิวหนังหนาขึ้นมักพบบริเวณคางและลำคอ

วิธีการดูแลรักษาโรคนี้

โรคผิวหนังอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัยเป็นโรคที่ไม่ได้รุนแรงถึงชีวิตแต่ก็สร้างความเจ็บปวดและทรมานให้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตามโรคผิวหนังอักเสบได้แบ่งวิธีการรักษาของโรคออกเป็น 2 วิธีด้วยกันดังนี้

การรักษาด้วยตนเอง

หากโรคผิวหนังอักเสบไม่ได้เป็นชนิดที่รุนแรงผู้ป่วยสามารถป้องกันและบรรเทาอาการคันด้วยตนเองเบื้องต้นดังนี้

  • ใช้แผ่นประคบเย็นชนิดเปียกเพื่อช่วยบรรเทาความเจ็บและการระคายเคืองผิวหนังให้น้อยลง
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ซักผ้าที่อ่อนโยนและหลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีเข้มข้นรวมถึงน้ำยาซักล้างใดๆ
  • หลีกเลี่ยงการเกาหรือรูดบริเวณที่มีอาการคัน
  • เพิ่มความชุ่มชื่นให้ผิวหนังด้วยการทามอยเจอร์ไรเซอร์ที่เป็นครีมขี้ผึ้งเพื่อทำให้ผิวชุ่มชื่นลดความรุนแรงของอาการคัน

การรักษาด้วยยา

นอกจากการดูแลรักษาตัวเองเบื้องต้นแพทย์อาจจะแนะนำผู้ป่วยให้ใช้ยาดังต่อไปนี้

  • ใช้ยาต้านอักเสบหรือผลิตภัณฑ์บรรเทาอาการคันตามร้านขายยาทั่วไปที่อาจจะช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราว
  • ใช้ยาไฮโดรคอร์ติโซนที่เป็นยาชนิดขี้ผึ้งที่จะช่วยให้ผิวหนังอักเสบชนิดที่ไม่รุนแรงแต่ถ้าผู้ป่วยที่รุนแรงแพทย์อาจจะสั่งจ่ายยาตามแพทย์เท่านั้น
  • การรักษาด้วยแสง เป็นการรักษาโดยใช้รังสีอัลตราไวโอเลตช่วยรักษาผื่นผิวหนังมักนำมารักษาผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับผิวหนังที่มีความรุนแรง

โรคผิวหนังอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกเพศทุกวัย สามารถป้องกันโรคผิวหนังอักเสบด้วยการดูแลรักษาผิวหนังไม่ให้แห้งจนเกิดไปและลดการใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีรุนแรงหรือสัมผัสสารเคมีโดยตรงเพราะอาจจะส่งผลกระตุ้นทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบได้ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคผิวหนังอักเสบได้แล้ว