เอาล่ะ! เลิกขมวดคิ้วแล้วหันมาฟังทางนี้กันค่ะ เพราะหลายคนยังคงมีข้อสงสัยถึงคำว่า “เครดิตบูโร” เก็บความคาใจกันมาเสียนานแต่ก็ยังไม่เคลียร์ บ้างก็ว่าเป็นหน่วยงานกลางสำหรับออกบัตรเครดิต บ้างก็ว่าเป็นหน่วยงานที่ใช้ทวงหนี้ และอีกมากมายหลายความคาดเดา ทำให้เข้าใจผิดกันไปยกใหญ่ แท้จริงแล้วหน่วยงานเครดิตบูโร (Credit Bureau) ทำหน้าที่อะไร? มาดูกัน
หน้าที่หลักของหน่วยงาน “เครดิตบูโร”
“เครดิตบูโร” คือหน่วยงานหนึ่งที่มีชื่อเรียกอย่างเต็ม ๆ ว่า “บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด” หรือ NCB (National Credit Bureau) เป็นหน่วยงานที่ได้จัดตั้งมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2542 โดยธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางที่คอยเก็บบันทึกข้อมูลประวัติการชำระหนี้ของลูกค้าทั่วทุกสารทิศ จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่ได้เข้าเป็นสมาชิก ทั้งที่เป็นในส่วนของ Bank และ Non-Bank โดยเก็บบันทึกรวบรวมประวัติการชำระหนี้ของคุณทั้งหมดอันเป็นหนี้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย อีกทั้งสถาบันซึ่งเป็นเจ้าของหนี้ก้อนนั้นต้องเป็นสมาชิกกับเครดิตบูโรด้วย
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคุณจะมีหนี้บ้าน, หนี้อสังหาริมทรัพย์, หนี้รถ, หนี้บัตรเครดิต หรือหนี้บัตรกดเงินสด ฯ ประวัติการชำระเงินของคุณก็ล้วนแล้วแต่จะถูกรวบรวมเข้ามาเก็บไว้ที่หน่วยงานแห่งนี้ ยกเว้นหนี้อื่นอันเป็นหนี้สาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่นค่าน้ำ, ค่าโทรศัพท์, ค่าไฟ ฯ นะคะ อันนี้ไม่นับรวมค่ะ คนละส่วนกัน
ระยะเวลาในการเก็บบันทึกข้อมูลของ “เครดิตบูโร”
คำถามถัดมาก็คือ ประวัติของลูกค้าทุกคนจะถูกเก็บไว้ที่หน่วยงานแห่งนี้เป็นระยะเวลานานเท่าไหร่? คำตอบแบบชัดเจนคือ 3 ปีค่ะ แค่ 3 ปีเท่านั้น! แล้วลบ ไม่ได้เก็บระยะยาวนะคะ แต่…อย่าเพิ่งหลงดีใจไปค่ะแม้เค้าจะลบฐานข้อมูลของคุณออก แต่ในกรณีที่ลูกค้าคนใดยังคงมีหนี้อยู่ หรือยังเคลียร์หนี้ก้อนเดิม ๆ ไม่ครบ สถาบันการเงินที่เป็นเจ้าของหนี้ จะทำการส่งข้อมูลเข้าไปจัดเก็บใหม่อีกครั้ง เพื่อรวบรวมและบันทึกใหม่นั่นเอง
บุคคลทั่วไปสามารถขอดูรายงานประวัติการชำระหนี้ได้ด้วยตัวเองหรือไม่?
คำตอบคือ “ได้” ค่ะ ไม่ว่าจะเป็นในแบบที่รอรับได้เลย ส่งทางไปรษณีย์ หรือในรูปแบบของ E-mail โดยขอผ่านเคาท์เตอร์ธนาคารได้ทุกสาขา มีค่าบริการอยู่ที่ 100 -150 บาท โดยประมาณ หากเป็นในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีจุดบริการตามสถานีรถไฟฟ้าอีกด้วย ลองเข้าไปดูข้อมูลเพิ่มเติมกันได้ที่ เวปไซต์ www.ncb.co.th กันได้ค่ะ
เพราะฉะนั้น “เครดิตบูโร” จึงทำหน้าที่เปรียบเสมือนสมุดพกบันทึกดี ๆ นี่เอง ที่คอยรวบรวมถึงพฤติกรรมการชำระหนี้ของคุณ แล้วตัดเกรดออกมาตามวินัยและพฤติกรรม โดยจะมีสถานะบ่งบอกได้ว่า ในฐานะของลูกหนี้แล้ว คุณมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน
เอาเป็นว่า หากคุณเป็นคนหนึ่งที่เป็นหนี้ ก็ควรรับผิดชอบและชำระหนี้ต่าง ๆ ให้ตรงเวลาไม่บิดพลิ้ว เอาตามกำลังที่คุณไหว และอย่าเพิ่งสร้างหนี้เพิ่มหากความสามารถในการชำระหนี้ของคุณไม่เพียงพอ เพราะวินัยเหล่านี้ จะเป็นข้อมูลสำคัญข้อมูลหนึ่งที่สถาบันการเงินต่าง ๆ จะนำมาใช้พิจารณาในการให้คุณกู้ยืมในครั้งถัดไปนั่นเองค่ะ แหม! ใครจะอยากให้เงินคนที่ยืมแล้วไม่คืนล่ะคะ จริงมั้ย?
สรุปง่าย ๆ หน่วยงานเครดิตบูโรหรือ NCB ทำหน้าที่แค่เพียงรวบรวมพฤติกรรมการชำระหนี้ของคุณเท่านั้น และขอย้ำว่าไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด สิ่งสำคัญคือวินัยและการบริหารหนี้ของคุณนั่นเองค่ะ ที่เป็นตัวแปรสำคัญ ขอให้ทุกคนโชคดี ปลอดหนี้ มีเครดิตกันทุกคนนะคะ